โรคเกล็ดเลือดต่ำจากภูมิคุ้มกัน คืออะไร
(ศูนย์สุขภาพเด็ก) ผู้เขียนบทความ : แพทย์หญิง เบญจมาศ ตันหยง
โรคเกล็ดเลือดต่ำจากภูมิคุ้มกัน คืออะไร
คือ โรคเลือดออกง่ายชนิดหนึ่ง ซึ่งมีภาวะเกล็ดเลือดลดต่ำลง เป็นผลมาจากภูมิคุ้มกันทำลายเกล็ดเลือดของตนเอง ซึ่งในภาวะปกติ เกล็ดเลือดทำหน้าที่ในระบบการแข็งตัวของเลือด ดังนั้นเมื่อเกล็ดเลือดลดต่ำลง ก็จะทำให้เลือดออกง่ายขึ้น
ผู้ป่วยเด็กจะมีอาการอย่างไร
ผู้ป่วยจะมีอาการเลือดออกเอง โดยไม่มีประวัติกระทบกระแทกใดๆ หรือ เมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้วพบความรุนแรงของภาวะเลือดออกมากกว่าปกติ
ผู้ป่วยจะมีภาวะเลือดออกอย่างเดียว โดยไม่มีภาวะไข้ ซีด ต่อมน้ำเหลืองโต หรือตับม้ามโต ตำแหน่งที่พบบ่อย เช่น รอยช้ำจ้ำเลือดตามร่างกาย จุดแดงใต้ผิวหนัง เลือดกำเดาออก เลือดออกตามไรฟัน หรือมีประจำเดือนมากกว่าปกติ
ในผู้ป่วยที่มีเกล็ดเลือดต่ำมาก อาจพบเลือดออกในทางเดินอาหาร และระบบประสาท ซึ่งพบได้ไม่บ่อย
สาเหตุของโรค เกิดจากอะไร
เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายถูกกระตุ้นให้สร้างสารแอนติบอดี้ มาทำลายเกล็ดเลือดของตนเอง โดยส่วนใหญ่ ไม่ทราบสาเหตุชัดเจน ผู้ป่วยอาจมีประวัติการติดเชื้อไวรัส หรือการได้รับวัคซีนบางชนิดนำมาก่อน 2-4 สัปดาห์ เกิดได้ในทุกช่วงอายุของเด็ก แต่พบได้บ่อยในช่วงอายุ 2-5 ปี
โรคเกล็ดเลือดต่ำจากภูมิคุ้มกัน รักษาอย่างไร
หากผู้ป่วยมีเลือดออกน้อย และเกล็ดเลือดไม่ต่ำมาก สามารถติดตามอาการโดยไม่ใช้ยาได้ ทั้งนี้ แพทย์จะพิจารณาการรักษาตาม อาการเลือดออก โอกาสที่จะมีเลือดออกเพิ่มขึ้น ร่วมกับปริมาณเกล็ดเลือด โดยยาหลักที่มีใช้ในประเทศไทย คือ ยากลุ่มสเตียรอยด์ (Corticosteroid) และ ยาอิมมูโนโกลบูลินให้ทางเส้นเลือด (Intravenous immunoglobulin, IVIg) โดยเลือกตัวใดตัวหนึ่ง แต่หากมีอาการรุนแรงมาก ต้องเพิ่มเกล็ดเลือดอย่างรวดเร็ว แพทย์อาจใช้ยาท้งสองตัวร่วมกัน
ผู้ป่วยจะหายขาดจากโรคเกล็ดเลือดต่ำจากภูมิคุ้มกัน ได้หรือไม่
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ ร้อยละ 60-80 จะหายได้ภายใน 6-12 เดือนหลังได้รับการวินิจฉัย ผู้ป่วยส่วนน้อยร้อยละ 20 จะมีเกล็ดเลือดต่ำนานกว่า 1 ปี และการดำเนินโรคแบบเรื้อรัง ซึ่งต้องได้รับการดูแลต่อไป
ผู้ปกครองควรดูแลเด็กอย่างไร
ในภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ผู้ปกครองควรนำบุตรหลาน มาตรวจกับแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ และดูแลไม่ให้ผู้ป่วยเล่นกีฬา หรือทำกิจกรรมที่มีการปะทะ หรือผาดโผนอันเสี่ยงจะก่อให้เกิดการบาดเจ็บได้ งดใช้ยาที่มีผลต่อการทำงานของเกล็ดเลือด เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ที่มักใช้ลดไข้สูงในเด็ก
หากมีผู้ป่วยมีอาการเลือดออกเพิ่มมากขึ้น ปวดศีรษะ ปวดท้อง หรือได้รับบาดเจ็บ ควรพามาพบแพทย์โดยเร็ว
หลังจากที่ปริมาณเกล็ดเลือดเพิ่มขึ้นเป็นปกติแล้ว เด็กสามารถกลับไปทำกิจกรรมและเล่นกีฬาได้ตามปกติ
ข้อมูล ณ วันที่ 1.06.2021