วัคซีนโควิดในหญิงตั้งครรภ์
(ศูนย์สุขภาพสตรี) ผู้เขียนบทความ : แพทย์หญิง รุจา จรัสสิงห์
วัคซีนโควิดในหญิงตั้งครรภ์
ปัจจุบันนี้คงไม่มีโรคไหนที่จะอยู่ในความสนใจของสังคมมากไปกว่าโรคโควิด-19 สำหรับหญิงตั้งครรภ์แล้วการติดเชื้อโควิดยังสร้างความกังวลใจเพิ่มขึ้นไปอีก แม้รายงานการติดเชื้อจากแม่ไปสู่ทารกในครรภ์จะพบน้อยมาก และส่วนใหญ่กว่า 90% ของหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อจะมีอาการน้อยและหายจากโรคได้ แต่หญิงตั้งครรภ์ในไตรมาสหลังๆกลับพบว่ามีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อรุนแรงจนต้องนอนรพ.มากกว่าหญิงทั่วไปในวัยเดียวกัน นอกจากนี้ยังเสี่ยงที่จะเกิดการแท้งบุตรหรือคลอดก่อนกำหนดมากขึ้นถึง 2 เท่า
จึงเป็นที่มาให้หน่วยงานทางสาธารณสุขทั่วโลกออกคำแนะนำเรื่องการได้รับวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ในหญิงตั้งครรภ์ แนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ทุกคนมีโอกาสได้รับวัคซีน โดยในพื้นที่ที่มีความเสียงต่อการติดเชื้อต่ำเริ่มรับวัคซีนได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 12 สัปดาห์เป็นต้นไป และสามารถเริ่มให้ได้ทันทีหากอยู่ในพื้นที่เสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ โดยไม่จำเป็นต้องเว้นการฉีดวัคซีนในหญิงให้นมบุตรหรือหญิงที่วางแผนจะตั้งครรภ์ หากได้รับวัคซีนชนิดอื่นมาอยู่ก่อน แนะนำให้เว้นช่วงจากวัคซีนอื่นอย่างน้อย 2 สัปดาห์
ข้อดีของการฉีดวัคซีนนอกจากจะลดโอกาสติดเชื้อและภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการติดเชื้ออันได้แก่การเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดหรือการแท้งบุตรโดยเฉพาะหญิงที่ตั้งที่มีโรคประจำตัวตัวอยู่เดิมแล้ว จากการศึกษายังพบว่าการฉีดวัคซีนชนิด mRNA ในหญิงตั้งครรภ์สามารถส่งผ่านภูมิคุ้มกันไปยังทารกในครรภ์หรือทางน้ำนมได้ด้วย ส่วนในวัคซีนชนิดอื่นๆนั้นยังไม่มีการศึกษาชัดเจน อย่างไรก็ตามองค์การอนามัยโลกและราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิดชนิดใดก็ได้ที่มีให้บริการ ขณะเดียวกันหญิงตั้งครรภ์ควรทราบความเสี่ยงของวัคซีน เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาวิจัยผลของวัคซีนที่มีต่อหญิงตั้งตรรภ์โดยตรงและทำในวัคซีนไม่กี่ชนิด ทำให้ข้อมูลต่างๆมีอยู่จำกัด แม้จะไม่มีรายงานว่าวัคซีนมีผลต่อทารกในครรภ์หรือการตั้งครรภ์แต่ตัววัคซีนเองมีผลข้างเคียง เช่น ปวดบริเวณที่ฉีด ปวดหัว อ่อนเพลีย ไข้ วัคซีนชนิดตัวพา (viral vector) มีรายงานการเกิดภาวะเลือดแข็งตัวผิดปกติได้ อย่างไรก็ตามภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้พบได้น้อยมากและพบรายงานการเกิดในหญิงตั้งครรภ์ไม่ต่างจากหญิงปกติในวัยเดียวกัน
การตัดสินใจว่าจะรับการฉีดวัคซีนหรือไม่ควรคำนึงถึงสองประเด็นหลัก หนึ่งคือหญิงตั้งครรภ์มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อหรือไม่ เช่น มีบุคลากรทางการแพทย์อยู่ในครอบครัว อยู่ในชุมชนที่มีความเสี่ยงสูง จำเป็นต้องติดต่อกับผู้คน หรือมีสมาชิกในครอบครัวจำนวนมาก และสองคือมีความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงหากติดเชื้อ เช่น มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน เบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ หรือหอบหืด มีภาวะน้ำหนักเกิน อายุมากกว่า 35 ปี และอายุครรภ์เกินกว่า 28 สัปดาห์ หากมีความเสี่ยงทั้งสองข้อแนะนำให้รับการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิดค่ะ