033-038-888

วัคซีนที่เด็กควรได้รับ สร้างภูมิคุ้มกันโรคร้ายอย่างมั่นใจ

(ศูนย์สุขภาพเด็ก) ผู้เขียนบทความ : ผู้ดูแล

วัคซีนที่เด็กควรได้รับ สร้างภูมิคุ้มกันโรคร้ายอย่างมั่นใจ

วัคซีนขั้นพื้นฐานต่าง ๆ เป็นตัวช่วยเสริมสร้างสุขภาพที่แข็งแรงให้แก่ลูกน้อยได้ แต่สำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ อาจยังไม่รู้ว่าวัคซีนที่เด็กควรได้รับสำคัญมากเพียงใด และต้องมีอะไรบ้าง นอกจากนั้นยังควรได้รับวัคซีนใดเพิ่มเติมอีก ดังนั้นเพื่อช่วยให้เข้าใจกันมากขึ้น เรามีทุกเรื่องควรรู้เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนสำหรับเด็กมาแนะนำกัน

การฉีดวัคซีนคืออะไร มีความสำคัญอย่างไรต่อเด็ก ?

การให้เด็กได้รับวัคซีน จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ทำให้ร่างกายสามารถต่อสู้กับเชื้อโรคได้ ลดความเสี่ยงในการป่วยหนักและเสียชีวิตจากติดเชื้อร้ายแรงต่าง ๆ โดยการฉีดวัคซีนมีความสำคัญ ดังนี้

ป้องกันโรคติดเชื้อร้ายแรง

วัคซีนขั้นพื้นฐานสำหรับเด็ก ๆ ช่วยป้องกันโรคติดเชื้อร้ายแรงหลายชนิด เช่น คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน โปลิโอ หัด คางทูม หัดเยอรมัน และอื่น ๆ ซึ่งโรคเหล่านี้จะก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง นำไปสู่ความพิการ หรือถึงขั้นเสียชีวิตได้ การฉีดวัคซีนจึงเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด

สร้างภูมิคุ้มกันหมู่

เมื่อประชากรส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคชนิดเดียวกัน จะส่งผลให้เกิดภาวะ "ภูมิคุ้มกันหมู่" (Herd Immunity) ซึ่งก็คือการที่โรคติดเชื้อไม่สามารถแพร่กระจายได้อย่างง่ายดาย เนื่องจากคนส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันแล้ว นับว่าเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ยังไม่มีโอกาสได้รับวัคซีน เช่น เด็กเล็กที่ไม่สามารถรับวัคซีนบางชนิดได้ หรือผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง

ลดภาระค่าใช้จ่ายหากเจ็บป่วย

ปัจจุบันค่ารักษาพยาบาลค่อนข้างสูง โดยเฉพาะโรคติดต่อร้ายแรง การฉีดวัคซีนจึงช่วยลดความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วย นับว่าเป็นการลงทุนเพื่อสุขภาพระยะยาว และลดการสูญเสียโอกาสการเรียนรู้และพัฒนาของเด็กเนื่องจากความเจ็บป่วยอีกด้วย

แม่พาลูกไปฉีดวัคซีนที่เด็กควรได้รับ

วัคซีนที่เด็กควรได้รับขั้นพื้นฐานมีอะไรบ้าง ?

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่อาจยังไม่รู้ว่าวัคซีนเด็กมีอะไรบ้าง ? คำตอบคือวัคซีนที่เด็กควรได้รับขั้นพื้นฐาน สามารถแบ่งออกได้ตามช่วงวัย โดยที่โรงพยาบาลสมิติเวชชลบุรี มีแพ็กเกจวัคซีนเด็ก รายละเอียดดังนี้

อายุ 1 เดือน

  • วัคซีนตับอักเสบบี ครั้งที่ 2 หรือวัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-โปลิโอ-ฮิปและตับอักเสบบี ครั้งที่ 1

อายุ 2 เดือน

  • วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-โปลิโอ-ฮิป ครั้งที่ 1
  • วัคซีนป้องกันลำไส้อักเสบจากไวรัสโรต้า ครั้งที่ 1
  • วัคซีนป้องกันโรคไอพีดี ครั้งที่ 1 (Prevnar 20)

อายุ 4 เดือน

  • วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-โปลิโอ-ฮิป ครั้งที่ 2
  • วัคซีนป้องกันลำไส้อักเสบจากไวรัสโรต้า ครั้งที่ 2
  • วัคซีนป้องกันโรคไอพีดี ครั้งที่ 2 (Prevnar 20)

อายุ 6 เดือน

  • วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-โปลิโอ-ฮิป ครั้งที่ 3
  • วัคซีนป้องกันโรคไอพีดี ครั้งที่ 3 (Prevnar 20)

อายุ 7-11 เดือน

  • วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ครั้งที่ 1
  • วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ครั้งที่ 2 (ห่างจากครั้งแรก 1 เดือน)

อายุ 9-12 เดือน

  • วัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม ครั้งที่ 1
  • วัคซีนไข้สมองอักเสบ ครั้งที่ 1

อายุ 12-15 เดือน

  • วัคซีนป้องกันโรคไอพีดี ครั้งที่ 4 (Prevnar 20)
  • วัคซีนโรคสุกใส ครั้งที่ 1

อายุ 18-24 เดือน

  • วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน-โปลิโอ-ฮิป ครั้งที่ 4
  • วัคซีนไข้สมองอักเสบ ครั้งที่ 2 (ห่างจากครั้งแรก 1 ปี)
  • วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ครั้งที่ 3 วัคซีนตับอักเสบเอ ครั้งที่ 1
  • วัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม ครั้งที่ 2

อายุ 30-36 เดือน

วัคซีนโรคสุกใส ครั้งที่ 2 วัคซีนตับอักเสบเอ ครั้งที่ 2 วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ครั้งที่ 4

การเตรียมตัวก่อนพาลูกไปฉีดวัคซีน

การเตรียมตัวที่ดีจะช่วยให้การฉีดวัคซีนเป็นไปอย่างราบรื่น ช่วยลดความตึงเครียด และคลายกังวลให้แก่ลูกน้อย ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้

  • ตรวจสอบตารางวัคซีน หรือสมุดบันทึกวัคซีนของลูกน้อย เพื่อนัดหมายเข้ารับการฉีดวัคซีน และให้แน่ใจว่าลูกได้รับวัคซีนตามกำหนด
  • แจ้งประวัติสุขภาพ ให้แพทย์รู้เกี่ยวกับประวัติสุขภาพของลูกน้อย เช่น การแพ้ยา หรืออาการป่วยเรื้อรัง
  • เลือกเวลาที่เหมาะสม โดยควรเป็นช่วงที่ลูกน้อยไม่งอแง เช่น หลังดื่มนมหรือหลังตื่นนอน
  • เตรียมสมุดบันทึกการรับวัคซีน ติดตัวไปด้วยทุกครั้ง เพื่อให้แพทย์เช็กตารางวัคซีนที่ลูกควรจะได้รับ และวางแผนการรับวัคซีนครั้งต่อไปได้อย่างเหมาะสม
  • อธิบายให้ลูกฟัง เพื่อให้ลูกเข้าใจถึงความสำคัญของการฉีดวัคซีน ด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย
  • สร้างบรรยากาศให้ผ่อนคลาย ด้วยการกอดลูก ให้กำลังใจ และเบี่ยงเบนความสนใจของลูก

การดูแลลูกหลังจากฉีดวัคซีน

หลังจากการฉีดวัคซีน อาจมีอาการข้างเคียงเล็กน้อย เช่น ปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีด หรือมีไข้ต่ำ ๆ อาการเหล่านี้มักหายได้เองภายใน 1-2 วัน ซึ่งมีวิธีการดูแลลูกหลังฉีดวัคซีน ได้แก่

สังเกตอาการ

หลังฉีดวัคซีน อาจมีไข้ต่ำ ๆ ปวด บวม หรือแดงบริเวณที่ฉีด ซึ่งเป็นอาการปกติที่พบได้ แต่หากมีอาการรุนแรงควรรีบพบแพทย์ทันที

ดูแลลูกให้พักผ่อนอย่างเพียงพอ

คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกได้พักผ่อนมาก ๆ กระตุ้นให้ดื่มน้ำบ่อย ๆ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

การให้วัคซีนที่เด็กควรได้รับตามช่วงวัยอย่างครบถ้วน จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงและปกป้องลูกน้อยจากโรคร้ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ คุณพ่อคุณแม่จึงควรใส่ใจและพาลูกไปรับวัคซีนตามกำหนดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ลูกน้อยได้เติบโตอย่างแข็งแรง พร้อมที่จะเรียนรู้ในสิ่งใหม่ ๆ ต่อไป

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังมองหาแพ็กเกจวัคซีนเด็ก มาเลือกใช้บริการได้ที่ศูนย์สุขภาพเด็ก โรงพยาบาลสมิติเวชชลบุรี ศูนย์รวมทีมแพทย์ผู้ชำนาญการสำหรับการตรวจโรคทั่วไป รวมถึงทีมแพทย์เฉพาะทางมากมาย เช่น สูตินรีแพทย์ หมอกระดูกเด็ก หมอสมองเด็ก และอีกมากมายในชลบุรี เรามุ่งมั่นอย่างเต็มที่เพื่อมอบบริการและการรักษาที่รวดเร็วและแม่นยำ เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยเด็กทุกคน เปิดให้บริการทุกวันเวลา 8.00-20.00 น. โทรศัพท์ : 033-038955 หรือ LINE: @dr.samitchon (มี @ ด้วย)

ข้อมูลอ้างอิง

  1. วัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็ก. สืบค้นวันที่ 6 มกราคม 2568 จาก https://www.pidst.or.th/A746.html




สอบถามข้อมูล
กรุณากรอกฟอร์มให้ครบถ้วน
ทางโรงพยาบาลจะติดต่อกลับภายใน 48 ชั่วโมง

doctor icon
แนะนำแพทย์ ประจำศูนย์

icon-articleบทความประจำศูนย์

ดูทั้งหมด