033-038-888

การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์คืออะไร

(All Gender Clinic) ผู้เขียนบทความ : นายแพทย์ มั่นจิตต์ ณ สงขลา

การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์คืออะไร

การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually Transmitted Infections: STIs)


การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์คืออะไร?

การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ (STIs) เกิดจากเชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา หรือปรสิต ซึ่งสามารถแพร่กระจายระหว่างคู่นอนผ่านการมีเพศสัมพันธ์ทั้งทางปาก ทางทวารหนัก และทางช่องคลอด โรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อย ได้แก่ โรคหนองในแท้ (gonorrhea) หนองในเทียม (chlamydia) ซิฟิลิส (syphilis) พยาธิช่องคลอด (trichomonas) ไวรัสเริม (herpes) ไวรัสเอชพีวี (HPV) และเชื้อเอชไอวี (HIV) หากไม่ได้รับการรักษา การติดเชื้อเหล่านี้อาจส่งผลร้ายแรง เช่น โรคทางระบบประสาทและหัวใจหลอดเลือด ภาวะมีบุตรยาก การตั้งครรภ์นอกมดลูก ทารกเสียชีวิตในครรภ์ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี นอกจากนี้ การติดเชื้อบางชนิดอาจส่งผ่านจากแม่สู่ลูกในระหว่างการตั้งครรภ์และการให้นมบุตร


อาการของการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์
ผู้ที่ติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์อาจมีอาการแสดงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือมากกว่าดังนี้:


•    ของเหลวผิดปกติออกจากอวัยวะเพศ (อวัยวะเพศชาย อวัยวะเพศหญิง หรือทวารหนัก)
•    แผลพุพองหรือแผลเล็ก ๆ บนอวัยวะเพศ
•    ปัสสาวะบ่อยหรือปวดขณะปัสสาวะ
•    อาการคันและแดงในบริเวณอวัยวะเพศ
•    แผลพุพองหรือแผลรอบปาก
•    กลิ่นผิดปกติในช่องคลอด
•    คันทวารหนัก เจ็บ หรือมีเลือดออก
•    ปวดท้อง
•    ผื่น


       ระยะเวลาของแสดงอาการขึ้นอยู่กับชนิดของการติดเชื้อ โดยการติดเชื้อบางชนิดจะไม่มีการแสดงอาการ ทำให้ไม่ทราบว่าติดเชื้อและอาจแพร่เชื้อไปยังคู่นอนได้


การวินิจฉัยการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์
การวินิจฉัยโรคสามารถทำได้โดย 3 วิธีดังนี้


•    ตรวจเลือด
•    เก็บปัสสาวะ
•    เก็บของเหลวจากแผล


การป้องกันการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์


•    ใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธีทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
•    การฉีดวัคซีนเป็นวิธีป้องกันที่มีประสิทธิภาพ โดยมีวัคซีนป้องกันโรคไวรัส 2 ชนิด ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B) และไวรัสเอชพีวี (HPV)


ใครบ้างที่ควรตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
แนะนำให้ตรวจหาโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ทุก 6 เดือนหากคุณมีพฤติกรรมที่ตรงกับอาการเหล้านี้อย่างน้อย 1 ข้อ
•    ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ
•    ผู้ที่มีคู่นอนหลายคน
•    ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย 
•    ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์หรือวางแผนตั้งครรภ์ เนื่องจากการติดเชื้อสามารถส่งผ่านไปยังทารกได้
•    ผู้ที่มีอาการบ่งชี้ว่าอาจติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์
•    ผู้ที่มีประวัติเคยติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์
•    ผู้ที่เคยสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ
•    ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

นพ.มั่นจิตต์ ณ สงขลา สาขาอายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลสมิติเวช ชลบุรี





icon-articleบทความประจำศูนย์

ดูทั้งหมด