รู้เพื่อป้องกัน ! สัญญาณเตือนและอาการมะเร็งปากมดลูกแต่ละระยะ

(ศูนย์สุขภาพสตรี) ผู้เขียนบทความ : ผู้ดูแล

รู้เพื่อป้องกัน ! สัญญาณเตือนและอาการมะเร็งปากมดลูกแต่ละระยะ

รู้หรือไม่ ? นอกจากมะเร็งเต้านมที่เป็นภัยร้ายอันดับ 1 ต่อผู้หญิง มะเร็งอีกหนึ่งชนิดที่น่ากังวลก็คือมะเร็งอันดับ 2 อย่าง 'มะเร็งปากมดลูก' บทความนี้ชวนผู้หญิงทุกคนมารู้ทันสัญญาณเตือน กับ 5 อาการเสี่ยงของมะเร็งปากมดลูก พร้อมแนะนำแนวทางป้องกันเพื่อให้ห่างไกลจากโรคร้าย

รู้จัก 'มะเร็งปากมดลูก'

มะเร็งปากมดลูก เป็นโรคที่เกิดขึ้นบริเวณเซลล์ปากมดลูก ซึ่งต่อจากช่องท้องและเชื่อมต่อกับช่องคลอด โดยส่วนใหญ่จะเกิดจากการติดเชื้อ HPV (Human Papilloma Virus) ทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายมักไม่สามารถกำจัดออกไปได้ ทำให้เชื้อคงอยู่อย่างยาวนาน จนก่อให้เกิดความผิดปกติในเซลล์ที่นำไปสู่การเกิดมะเร็งได้

ใครบ้างที่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูก ?

โรคมะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยในผู้หญิงกลุ่มอายุ 35-60 ปี ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกคนที่เคยมีเพศสัมพันธ์ เนื่องจากปากมดลูกคือช่องทางหลักของการติดเชื้อเอชพีวี โดยเฉพาะในกลุ่มคนเหล่านี้

  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย
  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายหลายคน
  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายที่มีคู่นอนหลายคน
  • ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำ หรือมีพฤติกรรมที่ทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันลดลง เช่น การสูบบุหรี่เป็นประจำ
  • ผู้ที่มีประวัติเคยป่วยด้วยโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ

สัญญาณเตือนมะเร็งปากมดลูกที่ผู้หญิงทุกคนต้องรู้ทัน

ถึงแม้มะเร็งปากมดลูกจะเป็นโรคที่สามารถพบได้บ่อย แต่ก็สามารถรักษาได้หากพบตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยสามารถสังเกตอาการเริ่มแรกมะเร็งปากมดลูกเพื่อเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงทีได้ ดังนี้

  • มีเลือดออกจากช่องคลอดผิดปกติ เช่น มีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ ออกกะปริบกะปรอยระหว่างมีประจำเดือน ประจำเดือนมามากหรือนานกว่าปกติ หรือเลือดออกหลังวัยหมดประจำเดือน
  • มีตกขาวผิดปกติ ซึ่งอาจมีสีเหลือง น้ำตาล และอาจมีเลือดปน รวมถึงมีกลิ่นเหม็น หรือมีลักษณะเป็นน้ำ เป็นมูก เป็นหนอง
  • มีอาการเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ซึ่งมักส่งผลให้น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • มีอาการปวดบริเวณท้องน้อยผิดปกติ โดยไม่เกี่ยวข้องกับการปวดท้องประจำเดือน
  • รู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ เนื่องจากมีการกดทับ หรือบีบรัดบริเวณช่องคลอด

ผู้หญิงส่งสัญญาณอาการเริ่มแรกมะเร็งปากมดลูก

อาการมะเร็งปากมดลูกแต่ละระยะ

หากพบความผิดปกติของอาการเสี่ยงจากมะเร็งปากมดลูกแล้ว จะต้องทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาระยะมะเร็งปากมดลูก โดยมีการแบ่งระดับความรุนแรงตามขนาดของมะเร็งและการแพร่กระจายของโรคออกเป็น 4 ระยะ ดังนี้

  • ระยะที่ 1
    ในระยะนี้เซลล์มะเร็งจะอยู่ในปากมดลูกเท่านั้น โดยยังไม่ได้แพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกาย จึงมักยังไม่มีอาการ หรือเป็นอาการที่ไม่ชัดเจน เช่น อาจพบเลือดออกผิดปกติหลังมีเพศสัมพันธ์ หรือตกขาวผิดปกติ มีกลิ่นเหม็น
  • ระยะที่ 2
    เป็นระยะที่มะเร็งเริ่มแพร่กระจายไปยังส่วนบนของช่องคลอด หรือเนื้อเยื่อข้างปากมดลูก ซึ่งอาการมะเร็งปากมดลูกระยะ 2 อาจพบว่าความผิดปกติที่อวัยวะเพศบ่อยขึ้น เช่น ตกขาวผิดปกติทั้งปริมาณและกลิ่น เลือดออกกะปริบกะปรอยระหว่างมีประจำเดือน รวมถึงอาจมีอาการปวดท้องน้อย เจ็บ หรือรู้สึกไม่สบายขณะมีเพศสัมพันธ์
  • ระยะที่ 3
    ในระยะที่ 3 มะเร็งจะแพร่กระจายไปเศษหนึ่งส่วนสามของปากมดลูก หรือกระจายไปยังบริเวณใกล้เคียง เช่น ต่อมน้ำเหลือง ทำให้มีเลือดออกมากขึ้น หรือมีอาการปวดที่มากขึ้น
  • ระยะที่ 4
    เป็นระยะสุดท้าย ซึ่งมะเร็งจะแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ไม่ว่าจะเป็นกระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ ตับ กระดูก ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดรุนแรงและอาจเริ่มส่งผลกระทบต่อระบบในร่างกาย

แนวทางป้องกันมะเร็งปากมดลูก

หากมะเร็งปากมดลูกลุกลามไปจนถึงขั้นสุดท้าย อาจส่งผลรุนแรงที่ยากจะรักษา การป้องกันมะเร็งปากมดลูกจึงเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ โดยสามารถป้องกันได้โดยการปฏิบัติตามแนวทาง ดังต่อไปนี้

  • มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ด้วยการป้องกันอย่างถูกวิธี
    มะเร็งปากมดลูกมีสาเหตุหลักมาจากการติดเชื้อไวรัส HPV ซึ่งสามารถถ่ายทอดทางเพศสัมพันธ์ได้ การป้องกันอย่างถูกวิธีจึงสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ จึงควรป้องกันด้วยการใช้ถุงยางอนามัย หลีกเลี่ยงการมีคู่นอนหลายคน รวมถึงการตรวจหาเชื้อ HPV ร่วมกับคู่นอน เพื่อเข้ารับการรักษาหากพบว่ามีการติดเชื้อ
  • ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก
    วัคซีน HPV มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการติดเชื้อ HPV ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก โดยสามารถฉีดวัคซีนได้ตั้งแต่อายุ 9 ปี จนถึง 45 ปี แนะนำให้ฉีดตั้งแต่ในช่วงอายุ 9-14 ปี หรือในช่วงวัยก่อนมีเพศสัมพันธ์หรือไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน
  • ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำ
    การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกสามารถช่วยให้พบมะเร็งในระยะเริ่มต้น เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษา ซึ่งควรทำการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี Pap Smear ซึ่งเป็นการป้ายเก็บตัวอย่างเซลล์จากมดลูกไปตรวจหาความผิดปกติ ทุก 1-2 ปี โดยเฉพาะในผู้หญิงที่มีประวัติเคยตรวจพบความผิดปกติ หรือผู้ที่มีความเสี่ยงสูง

 

ลดความกังวล ป้องกันมะเร็งปากมดลูกลุกลาม ได้ที่ศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลสมิติเวชชลบุรี ที่พร้อมให้บริการดูแลสตรีในทุกช่วงวัย โดยมีแพ็กเกจตรวจมะเร็งเพื่อคัดกรองมะเร็งปากมดลูก พร้อมให้คำปรึกษาในการรักษา รวมถึงบริการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก

นัดหมายเพื่อพบแพทย์ได้ที่ ศูนย์สุขภาพสตรี อาคาร A ชั้น 2 โรงพยาบาลสมิติเวช ชลบุรี เวลา 08.00-18.00 น. เบอร์โทรศัพท์ 033-038924

 

ข้อมูลอ้างอิง :

  1. Cervical cancer. สืบค้นเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 จาก https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/cervical-cancer
  2. มะเร็งปากมดลูก. สืบค้นเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 จาก https://www.rama.mahidol.ac.th/cancer_center/th/protfolio/knowledge/gyne/servix




doctor icon
แนะนำแพทย์ ประจำศูนย์

icon-articleบทความประจำศูนย์

ดูทั้งหมด