033-038-888

5 โรคในเด็กที่เป็นกันบ่อย พ่อแม่ต้องเตรียมตัวรับมือให้พร้อม

(ศูนย์สุขภาพเด็ก) ผู้เขียนบทความ : ผู้ดูแล

5 โรคในเด็กที่เป็นกันบ่อย พ่อแม่ต้องเตรียมตัวรับมือให้พร้อม

เด็ก ๆ เป็นวัยที่เจ็บป่วยบ่อย เนื่องจากภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรงและขาดความระมัดระวัง ทำให้ต้องเป็นขาประจำของโรงพยาบาลอยู่เสมอ ซึ่งโรคที่เด็ก ๆ เป็นกันบ่อย ๆ มักจะเป็นโรคติดต่อที่ระบาดในโรงเรียนและสถานรับเลี้ยงเด็ก พ่อแม่จึงควรเตรียมพร้อมในการป้องกันและรับมือโรคในเด็กที่พบเจอบ่อย ๆ ดังต่อไปนี้

1. โรคไข้หวัด

ไข้หวัด เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนบน เกิดจากเชื้อไวรัส เป็นหนึ่งในโรคที่เด็กเป็นบ่อย เกิดขึ้นได้ทั้งปี เมื่อเจอเชื้อหรือภูมิตก โดยมากจะไม่มีอาการรุนแรง แพทย์มักจะใช้ยาตามอาการ อย่างยาลดไข้ ยาแก้ปวด ยาลดน้ำมูก

การติดต่อ

มักติดเชื้อผ่านละอองฝอยไอและจามจากผู้ป่วยเป็นไข้หวัด การหายใจรดกัน การสัมผัสเชื้อไวรัส แล้วไปขยี้ตา หรือหยิบของเข้าปาก ดังนั้น หากพบว่าเด็กเป็นไข้หวัดควรให้หยุดเรียนและแยกจากเพื่อน ๆ เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค รวมถึงการใส่แมสก์ป้องกัน

อาการที่พบบ่อย

  • ปวดหัว
  • ตัวร้อน
  • คัดจมูก
  • หายใจไม่สะดวก
  • ไอ จาม มีเสมหะ
  • เจ็บคอ คอแห้ง

แนวทางการดูแลรักษา

แพทย์จะให้รับประทานยาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ปวดหัว ยาแก้ไอ หากมีไข้ คุณพ่อคุณแม่สามารถเช็ดตัวได้ แนะนำให้เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่น ๆ และเช็ดแรง ๆ เพื่อช่วยระบายความร้อน หากมีไข้สูง แนะนำให้รีบพาไปพบแพทย์เพื่อป้องกันอาการชัก

2. โรคไข้หวัดใหญ่

โรคไข้หวัดใหญ่ เกิดจากเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา ซึ่งในไทยพบอยู่ 2 สายพันธุ์หลัก ๆ คือ สายพันธุ์เอและสายพันธุ์บี เป็นการติดเชื้อแบบเฉียบพลัน มักแพร่กระจายในช่วงหน้าหนาวที่อากาศเย็น

การติดต่อ

ติดต่อกันผ่านลมหายใจ การไอ และการจาม และมักติดต่อในที่ชุมชน หรือมีคนจำนวนมาก รวมถึงโรงเรียนที่มีเด็กรวมตัวกันจำนวนมากอีกด้วย

อาการที่พบบ่อย

  • ปวดหัว
  • คัดจมูก มีน้ำมูก
  • เป็นไข้สูงเฉียบพลัน
  • มีอาการปวดเนื้อปวดตัวร่วมด้วย
  • เบื่ออาหาร
  • ไอแห้ง ๆ เจ็บคอ
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • บางรายอาจจะมีอาการท้องเสีย

แนวทางการดูแลรักษา

อันดับแรกแนะนำให้พาเด็ก ๆ ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ประจำปี เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน ลดความรุนแรงของโรคเมื่อมีการติดเชื้อ

ในกรณีที่เป็นไข้หวัดใหญ่ แพทย์จะให้กินยาตามอาการ และยาต้านไวรัส ซึ่งยาต้านไวรัสจะต้องกินต่อเนื่องจนหมด หากเด็กมีไข้ แนะนำให้เช็ดตัวแรง ๆ ด้วยผ้าชุบน้ำอุ่น เพื่อช่วยลดอุณหภูมิ

เด็กที่ป่วยและกำลังวัดไข้ด้วยเทอร์โมมิเตอร์

3. โรคมือเท้าปาก

โรคมือเท้าปาก เป็นหนึ่งในโรคฮิตของเด็กเล็ก มักพบในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี เกิดจากไวรัสกลุ่มเอนเตอโรไวรัส สร้างความทรมานและเจ็บปวดให้แก่เด็ก ๆ แม้จะไม่ใช่โรคในเด็กที่อันตราย แต่ผู้ปกครองก็ควรเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อน

การติดต่อ

ติดต่อผ่านระบบทางเดินอาหารและการหายใจ ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสกับเชื้อโดยตรง หรือสัมผัสผ่านของเล่น อาหาร และน้ำ ในช่วงหน้าฝนควรระมัดระวังเป็นพิเศษ

อาการที่พบบ่อย

  • มีตุ่มใส ๆ แตกเป็นแผลบริเวณลิ้น เพดานปาก กระพุ้งแก้ม และคอ บางคนอาจจะมีผื่นตามฝ่ามือ เท้า ก้น และอวัยวะเพศ
  • บางรายอาจจะมีไข้สูง ให้ผู้ปกครองเฝ้าระวัง และรีบพาไปพบแพทย์ เพื่อป้องกันการชัก
  • เจ็บปาก ไม่อยากอาหาร

แนวทางการดูแลรักษา

โรคนี้ยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ แต่จะเป็นการรักษาตามอาการ โดยแพทย์จะจ่ายเป็นยาลดไข้ ยาแก้ปวด หรือยาชาสำหรับแผลในปาก ส่วนมากจะมีอาการประมาณ 2-3 วัน และจะหายหลังผ่านไป 1 สัปดาห์

พ่อแม่และผู้ปกครองอาจจะต้องให้เด็กรับประทานอาหารอ่อน ๆ และหากว่ามีอาการรุนแรงหรือแทรกซ้อน ให้รีบพาไปพบแพทย์โดยด่วน

4. โรคไข้เลือดออก

โรคไข้เลือดออก เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกิ มียุงลายเป็นพาหะ เป็นโรคที่เด็กเป็นบ่อยในช่วงหน้าฝน เนื่องจากเป็นช่วงที่มีน้ำขัง อาจจะโดนยุงกัดได้ คุณพ่อคุณแม่ควรจะป้องกัน โดยการกำจัดลูกน้ำและยุงลายบริเวณบ้าน ฉีดสเปรย์กันยุงเมื่อต้องออกไปข้างนอกเสมอ

ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก สามารถฉีดได้ตั้งแต่ อายุ 4 ปี (ฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 3 เดือน) หากอยู่ในพื้นที่เสี่ยง โดยการฉีดวัคซีนป้องกันไว้จะดีที่สุด

การติดต่อ

มียุงลายเป็นพาหะนำโรค โดยนำเอาเชื้อจากผู้ป่วยที่มีระยะไข้ไปกัดคนอื่น ทำให้ป่วย ซึ่งมักจะแสดงอาการป่วยหลังจากได้รับเชื้อมาแล้ว 3-15 วัน

อาการที่พบบ่อย

  • ไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส และไม่ค่อยตอบสนองต่อยาลดไข้
  • เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน
  • มีผื่นแดงตามตัว มีเลือดออกตามไรฟัน หรือพบเลือดปนมากับอุจจาระหรือปัสสาวะ
  • ปวดท้องรุนแรง

ในกรณีที่ไข้สูงต่อเนื่องและหลายวัน ให้รีบพาไปพบแพทย์โดยเร็ว เพราะอาจจะทำให้เกิดภาวะช็อกตามมาได้เช่นเดียวกัน

แนวทางการดูแลรักษา

ปัจจุบันยังไม่มียาต้านเชื้อไวรัสเดงกิโดยเฉพาะ จึงเป็นการรักษาตามอาการ อย่างยาลดไข้ และการเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่น แนะนำให้กินยาตามแพทย์สั่งเท่านั้น เพราะยาลดไข้บางตัวอาจจะทำให้เกิดภาวะเลือดออกมากขึ้น

ยาที่ห้ามรับประทานเพื่อลดไข้ ได้แก่ ยาแอสไพริน และยากลุ่ม NSAID หากไม่แน่ใจว่าเป็นอาการของไข้เลือดออกหรือไม่ ให้หลีกเลี่ยงไปเลยจะดีที่สุด

5. ท้องร่วง

โรคท้องร่วง เป็นอีกหนึ่งโรคที่พบได้บ่อยในเด็ก เนื่องจากเด็กส่วนใหญ่มักขาดความระมัดระวัง ลืมล้างมือ และชอบหยิบของเข้าปาก ทำให้อาจจะติดไวรัสหรือแบคทีเรีย ทำให้ท้องร่วงได้ง่าย คุณพ่อคุณแม่จึงควรสอนเรื่องสุขอนามัยให้เด็กโต และระมัดระวังสิ่งของรอบ ๆ ตัวเด็ก เพื่อลดโอกาสของการเป็นโรคท้องร่วง

การติดต่อ

มักเกิดจากการได้รับเชื้อโรคเข้าปาก ผ่านทางอาหารที่รับประทาน หรือรับประทานอาหารค้างคืนหรือทิ้งเอาไว้นานจนเกินไป

อาการที่พบบ่อย

  • ถ่ายอุจจาระเหลว มากกว่า 2 ครั้งต่อวัน หรือถ่ายเป็นมูกเลือด
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • มีไข้สูงร่วมด้วย

หากเด็กถ่ายเหลวหลายครั้ง และอาการไม่ทุเลาลง แนะนำให้รีบมาพบแพทย์ เพราะอาจจะทำให้ร่างกายขาดน้ำและเกลือแร่จนช็อกได้

แนวทางการดูแลรักษา

หากอาการไม่รุนแรงมากนัก แนะนำให้กินเกลือแร่ หรือนมตามปกติ ในเด็กโตแนะนำให้รับประทานอาหารอ่อน ๆ ปรุงสุกใหม่

ในกรณีที่อาการรุนแรง แนะนำให้รีบมาพบแพทย์ โดยแพทย์จะจ่ายยาตามอาการ และอาจจะต้องให้น้ำเกลือ ขึ้นอยู่กับอาการและการวินิจฉัยของแพทย์

 

หากว่าเด็ก ๆ ป่วย อย่านิ่งนอนใจ ควรสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ถ้าอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง ควรรีบพามาพบแพทย์โดยด่วน เรามีคลินิกสุขภาพเด็กที่โรงพยาบาลสมิติเวชชลบุรี พร้อมดูแลตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อดูแลสุขภาพของเด็กเป็นการเฉพาะโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่มีความเชี่ยวชาญสูง พร้อมด้วยเครื่องมือที่ครบครัน เพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยที่สุด

นัดหมายเพื่อพบแพทย์ได้ที่ ศูนย์สุขภาพเด็ก อาคาร A ชั้น 2 โรงพยาบาลสมิติเวชชลบุรี เบอร์โทรศัพท์ 033-038955

 

ข้อมูลอ้างอิง :

  1. โรคที่มากับฤดูหนาว ตอนที่ 1: ไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่. สืบค้นเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2567 จาก https://www.pidst.or.th/A289.html
  2. โรคมือเท้าปาก. . สืบค้นเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2567 จาก https://www.pidst.or.th/A297.html




doctor icon
แนะนำแพทย์ ประจำศูนย์

icon-articleบทความประจำศูนย์

ดูทั้งหมด