ไขข้อสงสัย ผ่าตัดกระเพาะอาหาร ลดน้ำหนักได้จริงไหม ?
(คลินิกลดน้ำหนัก ให้บริการผ่าตัดกระเพาะลดความอ้วน) ผู้เขียนบทความ : นายแพทย์ พลเดช วิชาจารย์
สำหรับคนที่กำลังประสบกับปัญหาโรคอ้วน แม้ว่าจะลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตดูแล้ว แต่น้ำหนักก็ยังไม่ลง หรือลงช้าจนหมดกำลังใจ ซ้ำร้ายยังนำพาโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ เข้ามา ทำให้สุขภาพร่างกายแย่ และเป็นปัญหาต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การผ่าตัดกระเพาะอาหารจึงเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการรักษาโรคอ้วนได้ แล้ววิธีการนี้จะช่วยลดน้ำหนักได้จริงไหม และเป็นอันตรายหรือไม่ เราจะมาตอบข้อสงสัยเหล่านี้ให้ได้รู้กัน
ภาวะโรคอ้วนคืออะไร ?
โรคอ้วน เป็นภาวะที่มีไขมันสะสมอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายในปริมาณที่มากเกินไป ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพและเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และไขมันในเลือดสูง เส้นเลือดในสมองตีบ ในบางรายอาจมีอาการหยุดหายใจระหว่างการนอนหลับ รวมไปถึงมีสภาวะการมีบุตรยากอีกด้วย
ภาวะโรคอ้วนมีวิธีการวัดอย่างไร ?
การวัดภาวะโรคอ้วนที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย คือการคำนวณค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index: BMI) ซึ่งเป็นการวัดค่าความสัมพันธ์ระหว่างน้ำหนักและส่วนสูง โดยมีสูตรในการคำนวณ คือ น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูง (เมตร) ยกกำลังสอง
ตัวอย่าง น้ำหนักตัว 105 กิโลกรัม ส่วนสูง 170 เซนติเมตร หรือ 1.70 เมตร
เมื่อนำไปคำนวณตามสูตร จะได้เป็น (105/ (1.70 x 1.70) จะได้ค่า BMI = 34.6
ผลการคำนวณค่าดัชนีมวลกาย สามารถจำแนกออกได้เป็น ดังนี้
-
ผู้ที่มีค่า BMI 25-29.9 ถือว่ามีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน
-
ผู้ที่มีค่า BMI สูงกว่า 30 ถือว่าเป็นโรคอ้วน
-
ผู้ที่มีค่า BMI สูงกว่า 35-40 ถือว่าเป็นโรคอ้วนระดับรุนแรง
การผ่าตัดกระเพาะอาหารคืออะไร ?
การผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนัก (Bariatric Surgery) คือวิธีการรักษาภาวะโรคอ้วน โดยลดขนาดของกระเพาะอาหาร และปรับลักษณะการดูดซึมสารอาหารในระบบทางเดินอาหาร ผู้ป่วยจึงรับประทานอาหารได้น้อยลง ส่งผลให้ร่างกายดึงเอาสารอาหารและไขมันที่สะสมไว้ออกมาใช้งาน น้ำหนักจึงลดลงอย่างเห็นผลได้ชัดเจน
การผ่าตัดกระเพาะอาหารเหมาะกับใคร ?
การผ่าตัดกระเพาะอาหารเหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคอ้วนที่ไม่สามารถลดน้ำหนักด้วยวิธีการดั้งเดิม อย่างการควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย รวมถึงการรับประทานยา อีกทั้งยังมีค่าดัชนีมวลกายสูงกว่า 35 และมีโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ร่วมด้วย จำเป็นต้องใช้วิธีรักษาด้วยการผ่าตัดกระเพาะอาหาร เนื่องจากมีโอกาสประสบความสำเร็จค่อนข้างสูง และเห็นผลลัพธ์ในระยะยาว ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
การผ่าตัดกระเพาะอาหารมีกี่วิธี อะไรบ้าง ?
วิธีการผ่าตัดที่นิยมในปัจจุบันมี 3 วิธีหลัก คือ
-
การผ่าตัดกระเพาะแบบสลีฟ (Sleeve Gastrectomy: SG) เป็นการตัดกระเพาะอาหารให้มีขนาดเล็กลง จนเหลือความจุประมาณ 250 ซีซี และเย็บกระเพาะอาหารกลับไปให้มีลักษณะเป็นท่อยาว หลังจากนั้นผู้ป่วยจะรับประทานอาหารได้ในปริมาณที่น้อยลง ร่างกายจึงดึงไขมันและสารอาหารที่สะสมไว้ออกมาใช้งาน ทำให้น้ำหนักลดลงอย่างต่อเนื่อง
-
การผ่าตัดแบบบายพาส (Roux-en-Y Gastric Bypass: RYGB) เป็นการผ่าตัดที่ลดขนาดกระเพาะอาหารให้เล็กลงเหลือประมาณ 1-2 ออนซ์ จากนั้นแพทย์จะทำบายพาสเชื่อมต่อกับลำไส้เล็กขนาดความยาวประมาณ 200 เซนติเมตร ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยลดความอยากอาหาร และช่วยลดปริมาณอาหารที่รับประทานเข้าไปด้วย
-
การส่องกล้องเย็บกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนัก (Endoscopic Sleeve Gastroplasty: ESG) เป็นการผ่าตัดเย็บกระเพาะอาหาร โดยการเจาะรูเล็ก ๆ เข้าไปในช่องท้อง และใช้กล้องวิดีโอขนาดเล็กที่โค้งงอตัวได้ (Endoscope) ร่วมกับเครื่องมือพิเศษสำหรับเย็บกระเพาะอาหาร (Endoscopic Suturing System) เพื่อทำการผ่าตัดเย็บกระเพาะอาหารให้มีขนาดเล็กลงเท่าขนาดกล้วยหอม จึงส่งผลให้ความต้องการอาหารมีปริมาณลดน้อยลง ซึ่งหลายคนอาจสงสัยว่าการผ่าตัดส่องกล้องกระเพาะอาหารด้วยวิธีนี้เจ็บไหม ต้องบอกว่าด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย จะทำให้ผู้ป่วยเจ็บน้อยลง และมีแผลผ่าตัดประมาณ 3-4 แผลเท่านั้น ที่สำคัญยังฟื้นตัวได้ไวอีกด้วย
การผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนักมีข้อดีอย่างไร ?
-
ลดน้ำหนักส่วนเกินได้มากถึง 70-80% ภายใน 1-2 ปี
-
ช่วยควบคุมหรือรักษาโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่เกิดจากภาวะอ้วน เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง
-
ผลการรักษาระยะยาวดีกว่าการควบคุมอาหารหรือออกกำลังกายเพียงอย่างเดียว
-
ผู้ป่วยมีสุขภาพดีขึ้น มีความมั่นใจ และสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ ช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น
การผ่าตัดกระเพาะอาหารอันตรายหรือไม่ ?
แม้ว่าการผ่าตัดกระเพาะอาหารจะเป็นการผ่าตัดใหญ่ แต่ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้า ทำให้มีความปลอดภัยสูง อย่างไรก็ตามยังมีข้อเสีย คือความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกับการผ่าตัดอื่น ๆ เช่น การติดเชื้อ หรือภาวะแทรกซ้อนจากการดมยาสลบ แต่โอกาสเกิดน้อยมากหากได้รับการดูแลจากทีมแพทย์ผู้ชำนาญการ
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดกระเพาะอาหารต้องทำอย่างไร ?
-
ปรึกษาแพทย์อย่างละเอียด เพื่อประเมินความพร้อมและความเหมาะสมในการผ่าตัด
-
ตรวจสุขภาพร่างกาย เพื่อประเมินสภาพร่างกายและความเสี่ยงต่าง ๆ
-
ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยการลดปริมาณอาหารลง และเคี้ยวให้ละเอียดมากขึ้น
-
เลิกบุหรี่และแอลกอฮอล์ เพื่อลดความเสี่ยงในการผ่าตัดและช่วยให้ฟื้นตัวเร็วขึ้น
-
เตรียมจิตใจให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นหลังผ่าตัด
-
วางแผนการดูแลหลังผ่าตัด ด้วยการเตรียมพร้อมสำหรับการพักฟื้น และการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต
การผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนักเป็นการรักษาโรคอ้วนที่ได้ผลดีในระยะยาว โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะอ้วนขั้นรุนแรงหรือมีโรคอื่น ๆ ร่วมด้วย การเตรียมตัวอย่างเหมาะสมและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์จะช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จของการผ่าตัดได้เป็นอย่างดี
สำหรับผู้ที่สนใจวิธีการผ่าตัดกระเพาะอาหาร โรงพยาบาลสมิติเวช ชลบุรี ยินดีให้คำปรึกษาอย่างละเอียดทุกขั้นตอน พร้อมการรักษาจากแพทย์ผู้ชำนาญการ สามารถสอบถามราคา หรือนัดหมายแพทย์ปรึกษาผ่าตัดกระเพาะ โทร. 033-038-877 แผนกศัลยกรรม